วัคซีนไฟเซอร์: เคาะเกณฑ์ใหม่บุคลากรการแพทย์ ให้รับได้ทั้ง 2 เข็ม และเป็นเข็มที่ 2 ครอบคลุมกลุ่มอาสา-กู้ภัย

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ปรับเกณฑ์การให้วัคซีนไฟเซอร์ใหม่แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษาแพทย์ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพ โดยปรับเกณฑ์สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้วัคซีนให้สามารถรับไฟเซอร์ได้ 2 เข็ม และสามารถฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ได้

คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ออกมาล่าสุด เป็นมติจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ภายหลังในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังมีการเผยแพร่เกณฑ์ให้วัคซีนไฟเซอร์ฉบับแรกที่จัดสรรเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นเท่านั้น ไม่มีเริ่มเป็นเข็มแรก และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้าไป 1 เข็ม ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จนนำมาสู่กระแสพูดคุยในโลกทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #ทวงPfizerให้หน่วยด่านหน้า และ #วัคซีนไฟเซอร์ ตลอดวันเสาร์ที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา

มติจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ล่าสุด ระบุถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ ได้รับจัดสรรมาทั้งหมด 700,000 โดส

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันในวันนี้ (2 ส.ค.) ว่า วัคซีนไฟเซอร์รอบนี้จะถูกจัดสรร ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโควิด-19 โดยตรงทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานเสี่ยงติดเชื้อในระดับท้องถิ่นตำบล กลุ่มเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเก็บศพ กู้ภัย สัปเหร่อ จะรวมในโควตาวัคซีนไฟเซอร์ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดสด้วย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตัวเลขที่เป็นทางการที่มีการแถลงออกมาจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มีทั้งสิ้น 1,503,450 โดส และย้ำว่าการให้วัคซีนตามเกณฑ์นี้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ระบุกลุ่มเป้าหมายสำหรับการให้วัคซีนไฟเซอร์ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิดอื่น ๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด

พังงาต้องรอด

สำหรับหลักการให้วัคซีนซึ่งปรับเปลี่ยนจากฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่่ผ่านมา มีดังนี้

1. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม โดยเสนอจัดสรรให้ 600,000 โดส

2. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใด ๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก โดยเสนอให้จัดสรรให้ 50,000 โดส

3. บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใด ๆ มาก่อน พิจารณาให้ไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยจัดสรรให้ 47,700 โดส (23,850 คน คนละ 2 เข็ม)

4. บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน จัดสรรให้ 2,300 โดส

ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้ ได้แก่ ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2, แอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม และซิโนแวค 2 เข็ม และได้เข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ พิจารณายังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงในระยะนี้ เนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการและดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรกลุ่มนี้ต่อไปเมื่อมีวัคซีนเข้ามาเพิ่ม

พังงาต้องรอด
คำบรรยายภาพ,เกณฑ์ใหม่ที่เป็นมติจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.

13 จังหวัดแดงเข้ม ได้ 6.45 แสนโดส

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ กว่า 1.5 ล้านโดส จะมีการจัดสรรแบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง 700,000 โดส
  • ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปี ขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 645,000 โดสทั้งนี้ นพ.สุระ เสริมว่า ณ วันที่จัดสรรมี 13 จังหวัด ต่อมา ศบค.ได้ขยายพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 9 จังหวัด
  • ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย (เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปี ขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) และกลุ่มคนไทยที่มีความจำป็นต้องรับไฟเซอร์ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ 150,000 โดส กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำบัญชีรายชื่อของกลุ่มนี้ส่งให้กระทรวงสาธารณสุข
  • เพื่อการศึกษาวิจัย 5,000 โดส
  • เก็บไว้เพื่อกรณีควบคุมการระบาดสายพันธุ์เดลตา 3,450 โดส

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่คิดว่ามีการตกหล่น สามารถส่งชื่อเข้ามาที่กรมควบคุมโรคผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดสีแดงเข้ม 13 จังหวัด ให้ประสานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครประสานผ่านสำนักอนามัย

ด้าน พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าสำหรับสมาชิกแพทยสภาที่ลงทะเบียนรับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าประมาณ 200 คน หากต้องการปรับเปลี่ยนสามารถแจ้งกับช่องทางของแพทยสภาได้

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-58052904